10. การพูดในโอกาสต่างๆ
การพูดในโอกาสสำคัญ ๆ เป็นการพูดที่เราได้พบบ่อย ๆ ในชีวิตประจำวันของคนเราโดยเฉพาะบุคคลที่ได้รับยกย่องสรรเสริญจากบุคคลใน สังคมต่าง ๆ ย่อมมีโอกาสได้รับเชิญให้พูดในโอกาสสำคัญ ๆ ที่มีการจัดงานหรือจัดกิจกรรมต่าง ๆ ทางสังคมขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้ บุคคลที่เป็นผู้นำในทางสังคม หรือเป็นผู้นำในหน่วยงานต่าง ๆ จะต้องฝึกฝนตนเองในการพูดในลักษณะต่างๆไว้ การพูดในโอกาสต่างๆ ที่ถือว่ามีความสำคัญควรจะต้องฝึกฝนตนเองเอาไว้การพูดในโอกาสต่าง ๆ เท่าที่เห็นมีอยู่เสมอนั้น มีดังนี้
- การปฏิบัติหน้าที่โฆษก
- การปฏิบัติหน้าที่พิธีกร
- การกล่าวแนะนำผู้พูด
- การกล่าวอวยพร
- การกล่าวขอบคุณผู้พูด
- การกล่าวคำสดุดี
- การให้โอวาท
- การกล่าวคำปราศรัย
- การกล่าวคำต้อนรับ
- การกล่าวเลี้ยงส่งข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่
10.1 การปฏิบัติหน้าที่โฆษก
ผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่เป็นโฆษก นอกจากจะเป็นผู้ที่มีลีลาการพูดที่น่าฟังแล้ว จะต้องเป็นผู้ที่มีไหวพริบและปฏิภาณดี สามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างแคล่วคล่องว่องไว ปราศจากความเก้อเขิน มีอารมณ์รื่นเริงและแจ่มใสอยู่เสมอโฆษกที่ดีนั้นจะต้องมีลักษณะดังนี้
1) มีความสง่าผ่าเผย
2) เสียงดัง ชัดเจน นุ่มนวล และหนักแน่น
3) ใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส
4) มีมารยาทในการใช้ถ้อยคำดี
5) รู้จักเลือกใช้ถ้อยคำ และเลือกเรื่องที่จะนำมาพูดได้อย่างเหมาะสม
6) ไม่ใช้ถ้อยคำจำเจและซ้ำซาก
7) นำเรื่องที่จะพูดให้น่าสนใจ
8) ให้เกียรติผู้รับเชิญ และแนะนำเรื่องที่จะพูดให้น่าสนใจ
10.2 การปฏิบัติหน้าที่พิธีกร
พิธีกรเป็นบุคคลสำคัญในการชักนำให้การพูดแต่ละครั้งไปสู่จุดมุ่งหมายที่ วางไว้ บางครั้งพิธีกรตั้งอยู่ในฐานะเป็นประธาน ในที่ประชุม ผู้ทำหน้าที่เป็นพิธีกรจะต้องมีความรอบรู้รอบคอบ ละเอียดลออ จะต้องพร้อมไปด้วยคุณสมบัติและรู้หน้าที่ดังต่อไปนี้
- คุณสมบัติของพิธีกร
1) ต้องได้รับการฝึกพูดมาแล้วพอสมควร
2) มีความรอบรู้ระเบียบวิธีการพูดในที่ชุมนุมชน
3) เป็นที่เชื่อถือของบุคคลทั่วไป
4) เป็นผู้ยอมรับฟังความคิดเห็นของบุคคลอื่น
5) ไม่มีอคติ
6) มีมารยาทดีมีความอ่อนน้อมไม่ลุอำนาจต่อโทสะ
7) มีความอดทน รู้จักอดกลั้นต่อความรู้สึกต่างๆ
8) มีปฏิภาณดี สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว
- หน้าที่ของพิธีกร
พิธีกรมีหน้าที่คล้ายคลึงกับโฆษก ต่างกันที่ว่า หน้าที่พิธีกรนั้นใช้ในงานที่เป็นพิธีการที่มีผู้รับเชิญให้มาพูดมากกว่า 1 คนขึ้น พิธีกรมีหน้าที่สำคัญดังต่อไปนี้
1) วางแผนการพูดแต่ละครั้ง
2) แนะนำกลุ่ม
3) เชิญผู้พูดแต่ละท่านให้ขึ้นมาพูดตามลำดับ
4) จัดระเบียบวาระของการพูดแต่ละครั้งให้เหมาะสมตามสมควรแต่โอกาส
10.3 การกล่าวแนะนำผู้พูด
การกล่าวแนะนำผู้พูดนั้น มักจะกล่าวในโอกาสที่มีการปาฐกถา หรือในโอกาสที่มีการอภิปราย เช่น การกล่าวแนะนำผู้ดำเนินการอภิปราย และการกล่าวแนะนำวิทยากรในการสัมมนา เป็นต้น
สรุปการกล่าวแนะนำผู้พูด
1) การกล่าวแนะนำผู้พูดและเรื่องที่จะพูด ต้องแนะนำให้เหมาะกับลักษณะ และอารมณ์ผู้ฟัง
2) การแนะนำไม่ควรต่ำกว่า 20 วินาที และไม่เกิน 2 นาที
3) ไม่ควรให้ตัวผู้แนะนำและคำแนะนำเด่นจนเกินไป
4) ไม่ควรให้ผู้พูดรู้สึกขวยเขินเพราะคำยกยอจนเกินควร
5) เลือกใช้คำแนะนำให้เหมาะสม
6) วางการแนะนำตามลำดับขั้นของอารมณ์
10.4 การกล่าวอวยพร
การกล่าวสุนทรพจน์ที่ใช้บ่อยที่สุด เพราะว่าสังคมไทยมักจะจัดงานมงคลต่างๆ ขึ้นเสมอ เช่น งานมงคลสมรส ขึ้นบ้านใหม่ เลี้ยงส่ง วันขึ้นปีใหม่ ตลอดจนงานมงคลอื่นๆ ตามประเพณีที่มีมาแต่ก่อน
- การกล่าวอวยพรในงานมงคลสมรส การกล่าวในงานพิธีมงคลสมรสจะใช้เวลาไม่เกิน 10 นาที นิยมกล่าวปากเปล่า ซึ่งมีหลักการกล่าวที่ควรยึดเป็นแนวปฏิบัติดังนี้
1) กล่าวคำปฏิสันถาร
2) กล่าวถึงความรู้สึกว่าเป็นเกียรติที่ได้มาอวยพร
3) ความสัมพันธ์ของผู้พูดกับคู่บ่าวสาว
4) ให้คำแนะนำในการดำเนินชีวิต และการครองรัก
5) อวยพรและชักชวนให้ดื่ม
- การกล่าวอวยพรในวันขึ้นปีใหม่ เมื่อถึงวันที่ 1 มกราคม ของทุกปี ชาวไทยทุกคนต่างก็ทำบุญตักบาตร จัดงานเลี้ยงกันอย่างเอิกเกริกในหมู่ผู้ร่วมงานเดียวกัน ในหมู่ญาติสนิทมิตรสหายการกล่าวคำอวยพรในวันขึ้นปีใหม่มักจะพูดปากเปล่า โดยมีแนวปฏิบัติในการกล่าวดังนี้
1) กล่าวคำปฏิสันถาร
2) กล่าวถึงชีวิตในปีเก่าที่ผ่านมา
3) กล่าวถึงการเริ่มต้นชีวิตใหม่ในปีใหม่
4) อวยพร
- การกล่าวอวยพรวันคล้ายวันเกิดการกล่าวอวยพรตามประเพณีนิยมนั้น มีการกล่าวอวยพรเมื่อเสร็จจากการรับประทานอาหาร และผู้รับเชิญก็จะถือเอาผู้ที่มีอาวุโสในที่ประชุมนั้น หรือบางทีก็เป็นบุตรหัวปี เป็นผู้กล่าวในการกล่าวพิธีเช่นดังกล่าวนี้ มีแนวปฏิบัติในการกล่าวดังนี้
1) กล่าวคำปฏิสันถาร
2) กล่าวรู้สึกเป็นเกียรติที่มีโอกาสกล่าวอวยพร
3) การสร้างคุณงามความดี หรือพูดถึงความสัมพันธ์ที่ผู้พูดมีต่อท่านผู้นั้น
4) การเป็นที่พึ่งของบุตรหลาน
5) อวยพรให้มีความสุข
10.5 การกล่าวขอบคุณผู้พูด
เมื่อการพูดได้จบสิ้นลงแล้ว ผู้กล่าวแนะนำเป็นผู้กล่าวขอบคุณผู้พูดด้วยตามปรกติแล้วผู้กล่าวคำขอบคุณจะ กล่าวถึงเรื่องสำคัญของเรื่องที่ผู้พูดได้พูดอย่างสั้นๆ พร้อมทั้งเน้นให้เห็นว่าผู้ฟังจะได้รับประโยชน์จากการฟังครั้งนี้ด้วยอนึ่ง ในกรณีการสัมมนา ซึ่งมีวิทยากร มีวิธีกล่าวขอบคุณดังนี้
1) เริ่มด้วยการกล่าวคำขอบคุณ
2) สรุปเนื้อหาที่วิทยากรพูดไว้อย่างสั้นๆ พร้อมทั้งกล่าวเชื้อเชิญวิทยากรไว้สำหรับการพูดครั้งต่อไป
3) จบลงด้วยการกล่าวขอบคุณอีกครั้งหนึ่ง
10.6 การกล่าวสดุดี
การกล่าวสดุดีเป็นสุนทรพจน์อย่างหนึ่ง ที่ใช้พูดยกย่องสรรเสริญคุณความดีของบุคคลรวมทั้งผู้ที่มีชีวิตอยู่ และผู้ที่เสียชีวิตไปแล้ว การกล่าวสดุดีมุ่งที่จะพูดให้ผู้ฟังได้ตระหนักรำลึกถึงชีวิต และผลงานของบุคคลนั้น การกล่าวสดุดีควรยึดแนวปฏิบัติดังนี้
1) กล่าวปฏิสันถาร
2) กล่าวถึงประวัติโดยย่อ (สำหรับผู้เสียชีวิตแล้ว)
3) กล่าวถึงคุณความดีหรือผลงานของบุคคลนั้น
4) จบลงด้วยการพูดที่ทำให้ผู้ฟังรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณของบุคคล
10.7 การให้โอวาท
การให้โอวาท เป็นสุนทรพจน์ที่ผู้ใหญ่กล่าวกับผู้น้อย เพื่อจะให้ข้อคิด แนะนำตักเตือนและสั่งสอน เนื่องในโอกาสสำคัญๆ เช่น พระบรมราโชวาทพระราชทานแก่บัณฑิตใหม่เนื่องในวันพระราชทานปริญญาบัตร โอวาทของอธิการบดีในวันปฐมนิเทศนิสิตใหม่ เป็นต้น การให้โอวาทควรยึดแนวปฏิบัติในการกล่าวดังนี้
1) ความสำคัญของโอกาสที่ให้โอวาท
2) ให้หลักการ ข้อแนะนำ ตักเตือน ข้อคิดที่สมเหตุผล และอธิบายประกอบให้แจ่มแจ้ง
3) ถ้ามีเวลาพอก็อาจจะชี้ให้เห็นข้อบกพร่องต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นแล้วเสนอแนะวิธีแก้ไขข้อบกพร่องนั้นๆ
4) ไม่ควรให้โอวาทหลายเรื่องพร้อม ๆ กัน
5) ลงท้ายด้วยการอวยชัยให้พร
10.8 การกล่าวคำปราศรัย
คำปราศรัยมีลักษณะคล้ายคลึงกับสุนทรพจน์ในด้านภาษา เนื้อหา และทัศนคติของผู้กล่าว ซึ่งสามารถจะนำไปปฏิบัติได้ คำปราศรัยที่เป็นการพูดที่เป็นพิธีการ ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องมีการเตรียมมาก่อนเป็นอย่างดีคำปราศรัยอาจแบ่งได้เป็น ประเภทต่างๆ ดังนี้
1) คำปราศรัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เรียกว่า กระแสพระราชดำรัส หรือพระราชดำรัส เช่น กระแสพระราชดำรัสแก่ประชาชนชาวไทยเนื่องในวันขึ้นปีใหม่ เป็นต้น
2) คำปราศรัยในโอกาสครบรอบปี เช่น คำปราศรัยเนื่องในวันเด็ก เนื่องในวันกาชาดสากล เนื่องในวันกรรมกรสากล เนื่องในวันขึ้นปีใหม่ เป็นต้น
3) คำปราศรัยในงานพิธีต่างๆ ซึ่งเรียกว่า คำกล่าวเปิด…ถ้าเป็นงานที่เป็นพิธีการเรียกว่า "คำปราศรัย" เช่น คำปราศรัยของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ในการเปิดอบรมกำนันผู้ใหญ่บ้านทั่วราชอาณาจักร เป็นต้น
4) คำปราศรัยเกี่ยวกับนโยบายหรือเรื่องอื่นๆ เช่น คำปราศรัยเกี่ยวกับนโยบายการบริหารประเทศ คำปราศรัยเกี่ยวกับการพัฒนาประเทศ เป็นต้น
5) คำปราศรัยซึ่งแสดงความสัมพันธ์ระหว่างผู้ใหญ่กับผู้น้อย เช่น คำปราศรัยฯพณฯ หัวหน้าคณะปฏิวัติต่อเยาวชนไทย เป็นต้น
10.9 การกล่าวคำต้อนรับ
ในโอกาสที่มีผู้มาใหม่ เช่น เจ้าหน้าที่ใหม่ พนักงานใหม่ นักศึกษาใหม่ หรือมีผู้มาเยี่ยมเพื่อพบปะชมกิจการ การกล่าวต้อนรับควรยึดแนวปฏิบัติดังนี้
1) เริ่มด้วยการกล่าวแสดงความยินดีที่ได้มีโอกาสต้อนรับผู้มาใหม่
2) กล่าวถึงจุดมุ่งหมายในการเยี่ยมเยือน เพื่อให้เห็นว่าฝ่ายต้อนรับนั้นเห็นความสำคัญของการมาเยี่ยม
3) แสดงความหวังว่าผู้มาเยี่ยมจะได้รับความสะดวกสบายระหว่างที่พำนักอยู่ในสถานที่นั้น หรือระหว่างการเยี่ยมเยือนนั้น
4) สรุปเป็นทำนองเรียกร้องให้อาคันตุกะกลับมาเยี่ยมเยือนอีก ส่วนกรณีผู้มาใหม่ก็หวังว่าจะได้ร่วมงานกันตลอดไปด้วยความราบรื่น
10.10 การกล่าวเลี้ยงส่งข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่
ในหน่วยงานต่างๆ ถ้าหากว่ามีข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่โยกย้าย หรือออกจากงานก็ถือเป็นประเพณีอย่างหนึ่งที่จะต้องจัดงานเลี้ยง และมอบของที่ระลึกเพื่อแสดงความอาลัยให้
1) กล่าวปฏิสันถาร
2) กล่าวถึงความสัมพันธ์ของผู้ที่จากไปกับผู้ที่อยู่
3) กล่าวถึงคุณความดีทั้งในด้านการงาน และด้านส่วนตัวของผู้ที่จากไป
4) กล่าวถึงความอาลัยอาวรณ์ของผู้ที่
5) อวยพร